เคยสงสัยกันไหมว่าตัวเลขและตัวอักษรด้านข้างของขนาดยางหมายถึงอะไร ? ไม่ใช่คุณคนเดียวที่สงสัยหรอก ยังมีคนมากมายที่ถึงเวลาจะเปลี่ยนยางก็มักดูแค่ตัวเลข หน้ากว้าง ความสูงแก้มยาง หรือ ซีรีส์ยาง ขอบยาง แต่ตัวอักษรที่ตามมาข้างท้าย มีตัวเลข 98 เอย 100 เอย แล้วยังมีตัวอักษร X, Y หรือ V อีกด้วย ตัวอักษรเหล่านี้มันคืออะไร แล้วมันบอกอะไรเราบ้าง วันนี้ค็อกพิทสามไทย จะอธิบายให้ฟัง
ตัวอักษรที่เราพบเห็นบนแก้มยางนั้น เราเรียกว่า ดัชนีการรับน้ำหนัก และดัชนีความเร็ว ซึ่งในรายละเอียดนั้นจะประกอบไปด้วยตัวเลข 2 หลัก ตามด้วยตัวอักษรภาษาอังกฤษ ข้อมูลนี้จะปรากฎอยู่บนแก้มยาง และอยู่ด้านท้ายสุดในรายละเอียดของยางเสมอ
มาดูตัวอย่างในรูปกัน
235/40ZR18 95Y ในตัวอย่างนี้ 95 คือ ดัชนีการรับน้ำหนัก และ Y คือ ดัชนีความเร็ว เมื่อเรารู้ว่าตัวอักษรพวกนี้คืออะไรแล้ว ต้องเอาดัชนีเหล่านี้ไปเทียบกับตารางเพื่อหาค่าดังกล่าว
ดัชนีการรับน้ำหนัก
ดัชนีการรับน้ำหนัก หมายถึง ความสามารถในการรองรับน้ำหนักที่ยางสามารถรองรับได้ หน่วยเป็นกิโลกรัม น้ำหนักบรรทุกที่ยางสามารถรองรับได้เมื่อเติมลมยาง ตัวเลขในตารางด้านล่างแสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างดัชนีรับน้ำหนักกับความสามารถในการรับน้ำหนักของยางแต่ละเส้น ดังนั้นเมื่อรถใช้ยาง 4 เส้น เราก็ต้องนำเอาค่าที่ได้ไปคูณ 4 ด้วยเสมอ ถึงจะได้น้ำหนักที่รับได้บนยาง 4 เส้น
จากตัวอย่างข้างต้น 95 เมื่อเอาไปเทียบกับตารางแล้วได้ค่า 690 กิโลกรัม แล้วนำเอา 690 กก. ไปคูณ 4 เท่ากับ 2,760 กก. ซึ่งเท่ากับว่ายาง 4 เส้น สามารถรับน้ำหนักได้สูงสุดที่ 2,760 กก.
แต่อย่าลืมว่า เราไม่ควรยึดดัชนีการรับน้ำหนักสูงสุดของยางเส้นนั้นมากเกินไป ควรเผื่อน้ำหนักลงมาหน่อย เพราะว่าดัชนีการรับน้ำหนักในตารางดังกล่าวจะเทียบกับยางที่เติมลมยางสูงสุด ไม่ใช่เทียบกับลมยางที่กำหนดโดยบริษัทผลิตรถยนต์
เมื่อเปลี่ยนยางเส้นใหม่ เราแนะนำให้เลือกยางที่ดัชนีการรับน้ำหนักของยางเส้นใหม่เปรียบเทียบกับยางเส้นเก่า แล้วเท่ากับของยางติดรถเดิมๆ หรือจะดีกว่ายางเส้นใหม่ก็ยิ่งดี แต่ถ้ารถดังกล่าวไม่ได้ติดยางที่มาจากโรงงานประกอบรถ ก็ให้ดูในคู่มือรถแทน หรือจะดูข้อมูลตรงข้างประตูรถ จะมีบอกอยู่ครับ แต่ส่วนใหญ่แล้วยางที่ขายตามท้องตลาดทั่วไป ผู้ผลิตจะไม่นิยมลดเสป็กลงดังกล่าวลง เพราะว่าถ้าลูกค้ามั่นใจหรือเคยชินว่ายางเส้นเดิมเคยบรรทุกของหนักๆได้ แล้วไปเปลี่ยนเส้นใหม่ก็คิดว่าจะต้องบรรทุกของได้หนักเหมือนเดิม ยางอาจจะรับน้ำหนักไม่ไหว และอาจจะเกิดอันตรายขึ้นได้
เคสล่าสุดที่ผู้ขายพบเจอเลยก็คือ บริดจสโตน 235/45-18 รุ่น T005A
ยางเก่าที่ติดมาจากโรงงานประกอบรถ 235/45-18 94W
แต่ยางใหม่ที่จะเปลี่ยนเป็น 235/45-18 98W
เห็นไหมครับว่ายางเดิมที่ติดรถ ดัชนีการรับน้ำหนักอยู่ที่ 94 (670 กก.) ในขณะที่ยางใหม่ 98 (750 กก.) ต่างกัน 80 กก. และคำนวณออกมา 4 เส้นก็ปาเข้าไป 320 กก. แล้ว
ดังนั้น ถ้าเลือกเปลี่ยนยี่ห้อจากของเดิมไปยี่ห้อใหม่ หรือเลือกยี่ห้อเดิม แต่ใช้รุ่นอื่น เราแนะนำให้ดูดัชนีการรับน้ำหนัก โดยเฉพาะรถกระบะขนส่งที่บรรทุกของหนักๆ แต่ถ้าเลือกยี่ห้อเดิม รุ่นเดิม เราแทบไม่ต้องกังวลประเด็นดังกล่าวเลยครับ
ดัชนีความเร็ว
ดัชนีระบุความเร็วยางแสดงถึงความสามารถในการใช้ความเร็วสูงสุดที่ยางมีขีดความสามารถ แต่แทนที่จะเลือกใช้ตัวเลขความเร็วกำกับบนแก้มยาง ผู้ผลิตยางจะใช้ตัวอักษรภาษาอังกฤษระบุแทน
ในตัวอย่างด้านบน ดัชนีความเร็วคือ Y เมื่อเปรียบเทียบกับตารางแล้ว ความเร็วสูงสุดที่ยางรับได้คือ 300 กม./ชม.
ถึงแม้ยางจะระบุว่า สามารถวิ่งได้ที่ความเร็วสูงสุดที่ 300 กม./ชม. แต่ไม่ได้หมายความว่ารถเราจะสามารถขับขี่ได้ถึงที่ความเร็วนั้น ต้องอย่าลืมว่าค่าความเร็วของยางขึ้นอยู่กับการทดสอบทางห้องปฏิบัติการภายใต้สภาวะควบคุมเฉพาะ ถึงแม้ว่าการทดสอบเหล่านี้เกี่ยวข้องกับประสิทธิภาพบนท้องถนนภายใต้เงื่อนไขดังกล่าว แต่โปรดจำไว้ว่าการขับขี่ในชีวิตจริงจะไม่เหมือนกับเงื่อนไขการทดสอบทั้งหมด
ดังที่อธิบายไปข้างต้น ดัชนีความเร็วจะถูกระบุเป็นภาษาอังกฤษ แต่ก็ยังมีตัวอักษรเพิ่มเติมเข้ามาในยาง เช่น 235/40ZR18
ความจริงแล้ว Z ก็คือดัชนีความเร็วที่ยางเส้นนั้นรับได้ แต่เรามักจะพบเห็นบนยางรุ่นสมรรถสูง (High performance) และมักจะพบในรถสปอร์ต รถซุปเปอร์คาร์ หรือรถซีดาน ตัวอักษร Z ที่ปรากฎบนยางส่วนใหญ่แล้ว มักจะมีดัชนีความเร็วระบุอยู่ที่ W หรือ Y ตามเสมอ และเรามักจะไม่ค่อยพบเห็นในยางธรรมดาทั่วไป
ทิ้งท้าย ถ้าคุณขับรถในเมืองทั่วไป ขับวิ่งออกต่างจังหวัด ใช้ความเร็วตามกฎหมายกำหนด ไม่มีความจำเป็นต้องดูดัชนีทั้ง 2 ค่าดังกล่าวเลย แต่ถ้าคุณเป็นนักแข่งในสนามแข่งที่ต้องใช้ความเร็วสูงในการทำรอบ เมื่อนั้นการเลือกซื้อยางเส้นใหม่ ให้สังเกตดูดัชนีความเร็วที่ยางเส้นนั้นสามารถรับได้ด้วยครับ แล้วถ้าคุณมีรถกระบะไว้สำหรับบรรทุกสิ่งของ วิ่งงานหนัก งานไกล การเปลี่ยนยี่ห้อใหม่ หรือเลือกยี่ห้อเดิม แต่ใช้รุ่นอื่น เพื่อความปลอดภัยให้สังเกตดัชนีการรับน้ำหนักทุกครั้งด้วยครับ